สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอำนาจเจริญ กับ "พระมงคลมิ่งเมือง" หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า "พระใหญ่" ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ ภายในเต็มไปด้วยหินดานและปกคลุมไปด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งถูกปรับปรุงให้เป็น "พุทธอุทยาน" ส่วน "พระมงคลมิ่งเมือง" เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระหน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี 20 เมตร ได้รับอิทธิพลอินเดียเหนือ (ปาละ) ที่แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสานของไทยเมื่อพันปีมาแล้ว ออกแบบโดย จิตร บัวบุศย์ การก่อสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็กครอบพระองค์เดิมซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น มีฐานกว้าง 8.4 เมตร ยาว 12.6 เมตร สูง 5.2 เมตร ตกแต่งด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสกสีทอง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยการกราบขอพรจากองค์พระมงคลมิ่งเมืองนั้น ส่วนมากนิยมขอพรให้คลายความทุกข์โศกร้อนใจ และบนบานให้ประสบความสำเร็จในเรื่องต่าง ๆ
นอกจากนี้บริเวณด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมือง ยังมีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก 2 องค์ คือ "พระละฮาย" หรือในภาษาอีสานเรียกว่า "พระขี่ล่าย" หมายถึงไม่สวยงาม ด้วยการเรียกตามลักษณะรูปลักษณ์ของพระพุทธรูปแบบโบราณ ซึ่งพบครั้งแรกในหนองน้ำในครั้งที่ปรับปรุงฝายกั้นน้ำ เมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยมีความเชื่อว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ที่มักมีชาวบ้านมากราบไหว้ขอพรอยู่เสมอ
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ amnatcharoen.cad.go.th